เตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง
แป๊ปๆ ก็ใกล้ถึงวันเสาร์อาทิตย์ วันหยุดพักผ่อนที่หลายคนรอคอย หลายท่านอาจมีแผนเดินทางไปเที่ยวจังหวัดใกล้ๆ หรืออาจเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง การเตรียมข้อมูลการเดินทางและเส้นทางในการขับขี่ รวมทั้งตรวจสอบยานพาหนะจะช่วยให้ประหยัดพลังงานและทำให้เดินทางได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้อีกด้วย
1.วางแผนการเดินทาง
วางแผนก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เลือกเส้นทางที่เหมาะสมช่วยให้ไม่หลงเส้นทาง และยังช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมัน รวมทั้งหาเส้นทางสำรอง และเบอร์ติดต่อของจุดหมายหรือสถานีตำรวจในเส้นทางที่ผ่าน เผื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเกิดการหลงทางเอาไว้ รวมทั้งการขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. จะช่วยให้เราประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น
2.ตรวจสอบสภาพรถ
การตรวจสอบสภาพรถมีความสำคัญต่อการเดินทางเป็นอย่างมาก ซึ่งการเดินทางอาจจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ควรตรวจสอบระบบเบรก ระดับน้ำในแบตเตอรี่ ระดับน้ำมันเครื่อง ระดับน้ำในหม้อน้ำ ระบบปัดน้ำฝน สัญญาณไฟทุกดวง รวมถึงสภาพของยางและแรงดันลมยางให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
3.อุปกรณ์ประจำรถต้องพร้อมใช้งาน
อุปกรณ์ประจำรถ ต้องมีและสามารถใช้งานได้ เช่น เครื่องมือถอดเปลี่ยนยาง เชือกสำหรับลากจูง แผ่นสะท้อนแสงแจ้งเหตุฉุกเฉิน ไฟฉาย เป็นต้น แต่การบรรทุกสินค้าหรือของเกินพิกัดมากจะทำให้กินน้ำมันเชื้อเพลิงมากและทำให้รถมีอายุการใช้งานที่สั้นลงอีกทั้งยังเป็นการไม่ปลอดภัยต่อการควบคุมการขับขี่
4.พักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ขับขี่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใด ๆ ทั้งก่อนออกเดินทาง และรวมถึงขณะเดินทาง หากรู้สึกเมื่อยล้า หรือง่วงนอน ให้จอดพักผ่อนสักครู่ ก่อนออกเดินทางใหม่
ผู้ขับขี่ควรใช้รถด้วยความระมัดระวัง มีน้ำใจแก่ผู้ร่วมทาง และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเดินทาง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ไปยังจุดหมายได้อย่างปลอดภัย
#รวมพลังคนไทยลดใช้พลังงานหาร2
#การเตรียมพร้อมก่อนการเดินทาง #มีพลังงานมีความสุข #กระทรวงพลังงาน #MinistryofEnergy #MoEN #สำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี
สำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี ??ขอร่วมรณรงค์?? ช่วยกันประหยัดพลังงาน ใช้รถเท่าที่จำเป็น #ประชาสัมพันธ์ #ร่วมใจประหยัดพลังงานร่วมผ่านวิฤตไปด้วยกัน #Saveenergy
มาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบมาตรการประหยัดพลังงานตามที่เสนอในแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ 2. อนุมัติเป็นหลักการให้หน่วยงานราชการดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 พร้อมทั้งรายงานผลการประหยัดพลังงานผ่าน www.e-report.energy.go.th เพื่อกระทรวงพลังงานจะได้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดย กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานราชการนำไปปฏิบัติ และได้ผลประหยัดพลังงานตามเป้าหมายที่กำหนด โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. กำหนดเป้าหมาย : ลดใช้พลังงานลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 (รวมไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง) 2. มาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที มีแนวทางดังนี้ 2.1 ให้หน่วยงานราชการลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของการประเมินผลตัวชี้วัดการลดใช้พลังงานของหน่วยงานราชการ ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 - 2563 โดยปรับเพิ่มเป้าหมายลดใช้พลังงานจากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 2.2 แนวทางดำเนินการ (1) การรายงานข้อมูลการใช้พลังงาน : ให้หน่วยงานราชการรายงานข้อมูลการใช้พลังงานผ่าน www.e-report.energy.go.th ซึ่งทุกหน่วยงานได้มีบัญชีสำหรับเข้าระบบเพื่อรายงานข้อมูลการใช้พลังงานแล้ว (2) มาตรการลดใช้พลังงานด้านไฟฟ้า : ให้หน่วยงานราชการจัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือมีฉลากประสิทธิภาพเบอร์ 5, กำหนดเวลาเปิด - ปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น 8.30 - 16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 - 26 องศาเซลเซียส และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน, กำหนดการใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น การหยุดเฉพาะชั้นคู่ หรืออาจจะสลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อยและรณรงค์ขึ้น – ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์ และพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ (3) มาตรการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง : ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์, ให้พนักงานขับรถยนต์ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อย่างเคร่งครัด และขับรถในอัตราความเร็วที่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงเลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทาง และจำนวนผู้เดินทาง 3. มาตรการระยะยาว มีแนวทางดังนี้ 3.1 ให้ “อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม” ก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่ให้เกิน “ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงาน” ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม 3.2 ให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน มาใช้กับหน่วยงานราชการ โดยให้กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดวิธีการและแนวทางที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง ซึ่งจากผลการประหยัดพลังงานที่ผ่านมา หน่วยงานราชการ ได้ดำเนินการรายงานข้อมูลการใช้พลังงานในระบบ www.e-report.energy.go.th ที่กำหนดให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 10 ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2564 โดยใช้ปี พ.ศ. 2562 เป็นปีฐาน เพื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2563 และ 2564 ในด้านการใช้ไฟฟ้า ที่ประหยัดได้ 100.4 ล้านหน่วย และ 149.0 ล้านหน่วย ตามลำดับ และด้านการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ 5.7 ล้านลิตร และ 17.6 ล้านลิตร ตามลำดับ รวมผลประหยัด 2 ปี สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 249.4 ล้านหน่วย และสามารถลดการใช้น้ำมันลง 23.3 ล้านลิตร ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. ถ้าหากหน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 ในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าได้ 120 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่า 600 ล้านบาท (ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5 บาท) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 70,800 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (ไฟฟ้า 1 หน่วย = 0.590 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์) และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นเงินมูลค่า 420 ล้านบาท (ค่าน้ำมันคิดเฉลี่ยหน่วยละ 35 บาท) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26,275 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (เบนซิน 1 ลิตร = 2.1896 กิโลกรัม เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์) รวมลดปริมาณการใช้พลังงานลงคิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 97,075 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 2. การกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงาน คิดเป็นไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 872.25 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 102,925 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 3. การดำเนินงานตามมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐคาดว่าจะสามารถลดใช้พลังงานคิดเป็นไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 624,414 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ #ลดใช้พลังงานหน่วยงานราชการ #ลดใช้พลังงานร้อยละ20 #สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ #เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน #CreateTheFutureEnergy #กระทรวงพลังงาน
เรื่องต้องรู้...เกี่ยวกับการขออนุญาตเปิดปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ ”การประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2” เจ้าของตู้ต้องแจ้งกับท้องถิ่นก่อน เช่น อบต. เทศบาล แล้วแต่ว่าเราอยู่ในเขตไหน ?? ซึ่งหลักๆ ของการขออนุญาตการเปิดปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ มีดังนี้ 1. ตู้น้ำมันหยอดเหรียญถือเป็นสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภท ง โดยจะต้องออกแบบให้มีมาตรฐานความปลอดภัยดังต่อไปนี้ 1.1 ลักษณะ ระยะความปลอดภัย และอุปกรณ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในหมวด 5 สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภท ง แห่งกฎกระทรวงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2552 1.2 อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในบริเวณอันตรายของตู้น้ำมันหยอดเหรียญจะต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมธุรกิจพลังงาน หรือได้รับการรับรองจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามข้อ 16 แห่งกฎกระทรวงระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าของสถานีบริการน้ำมัน 2. ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการ จะต้องแจ้งการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2 (ตามแนบ ธพ.ป.1) ต่อกรมธุรกิจพลังงาน ในกรณีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรือแจ้งต่อสำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพื้นที่นั้นๆ เช่น อบต. เทศบาล 3. ผู้ประกอบการ ต้องดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้ค้าน้ำมัน (ตามมาตรา 11) แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต่อกรมธุรกิจพลังงาน ในกรณีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรือแจ้งต่อสำนักงานพลังงานจังหวัด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎกระทรวงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2552 http://elaw.doeb.go.th/document_doeb/TH/275_0001.pdf กฎกระทรวงระบบไฟฟ้าและระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าของสถานที่ประกอบกิจการน้ำมัน พ.ศ. 2556 http://elaw.doeb.go.th/document_doeb/TH/404_0001.pdf กฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556 http://elaw.doeb.go.th/document_doeb/TH/401_0001.pdf ตรวจสอบรายชื่อตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ที่ได้รับการรับรองจากกรมธุรกิจพลังงาน ทาง www.doeb.go.th https://www.doeb.go.th/dtastn/list-vending-oil.pdf การออกหนังสือรับรองอุปกรณ์ไฟฟ้าในบริเวณอันตราย ประเภท ตู้น้ำมันหยอดเหรียญที่ได้รับการรับรองหลังปี พ.ศ. 2561 รับรองโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานและพิจารณาการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในบริเวณอันตรายของสถานประกอบการ https://www.doeb.go.th/dtaspp/cer-dan-area/14.pdf #กรมธุรกิจพลังงาน #ปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญ #กองความปลอดภัยธุรกิจน้ำมัน #สถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน #มาตรา11 #กฎกระทรวงสถานีบริการน้ำมัน #กิจการควบคุมประเภทที่2 #สำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี